กล้วยน้ำว้า

| 0 Comments

ชื่ออังกฤษ             Banana , Cultivated banana

ชื่อวิทยาศาสตร์    Musa sapientum Linn. , Musa paradisaca var sapientum ( Linn. ) O. Kutze

ชื่ออื่นๆ                  กล้วยใต้ , กล้วยนาก , กล้วยมณีอ่อน , กล้วยส้ม , เจกซอ , มะลิอ่อง , ยะไข่

 

ลักษณะพืช

กล้วยเป็นพืชล้มลุก ลำต้นกลมใหญ่ มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ต้นมีกาบสีเขียวอ่อนหุ้มหลายชั้น ใบเดี่ยวเป็นทางยาวใหญ่ยาวกว่า 1 เมตร เรียงเดี่ยวกางออกทุกทิศทาง เส้นกลางใบใหญ่และแข็ง หลังใบสีเขียวเข้ม ท้องใบสีเขียวอ่อนและมีสีนวลขาว มีดอกใหญ่สีแดงอิฐเป็นช่อยาวห้อยลงเรียกว่า “หัวปลี” มลักษณะเป็นกลีบใหญ่ซ้อนทับกัน ข้างในเป็นกลีบสีขาวซ้อนกัน ต่อมาก็โตขึ้นเป็นผลดิบกลมยาวสีเขียว ออกผลเป็นเครือที่มีอยู่หลายหวีซ้อนกัน ผลสุกมีสีเหลืองทอง ผลกล้วยเหมาะสำหรับกินสุก ออกผลหนึ่งครั้งแล้วต้นจะถูกตัดทำลาย

กล้วยน้ำว้า

การปลูก

กล้วยเป็นพืชเมืองร้อน มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบประเทศเอเชียอาคเนย์ขยายพันธุ์ด้วยการใช้หน่ออ่อนแยกปลูก ลงหลุมลึก 0.5 เมตร ปลูกห่างกัน 2 – 3 เมตร ใส่ปุ๋ยหมักที่ก้นหลุม กลบดินให้แน่นเพื่อให้ต้นมั่นคง ชอบดินที่อุ้มน้ำได้ดี ควรปลูกต้นฤดูฝน ไม่ต้องรดน้ำเพราะปลูกง่าย แต่ปลูกหน้าแล้งได้ยากมักจะเหี่ยวเฉา กล้วยจะให้ผลเมื่ออายูได้ 8 เดือน

 

ส่วนที่นำมาใช้เป็นยา ผลกล้วยดิบมีรสฝาด ใช้แก้ท้องเสีย โรคกระเพาะ ผลสุกมีรสหวาน ใช้เป็นยาระบาย

 

การใช้กล้วยรักษาโรคกระเพาะอาหาร

1. ใช้ผลกล้วยดิบ หรืออาจฝานบางๆ ตากแดดให้แห้งแล้วบดให้ละเอียดเป็นผง เวลาใช้ชงน้ำร้อนดื่ม รักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบได้เพราะมีสรรพคุณฝาดสมานแผล กระตุ้นกระเพาะให้หลั่งสาร mucin ออกมา บางคนกินแล้วมีอาการแน่นท้องจุกเสียด ให้ดื่มสมุนไพรขับลม เช่น กะเพราหรือขิงหรือยาธาตุเปลือกอบเชย ก็จะหายจากอาการแน่นท้อง

2. ใช้ผลกล้วยดิบที่ฝานบางๆ แล้วตากแดดให้แห้ง จากนั้นก็บดให้ละเอียดเป็นผง ป้ันเป็นยาลูกกลอนกินครั้งละ 4 เม็ด หลังมื้ออาหาร

 

การใช้กล้วยรักษาอาการท้องเสีย

1. ใช้กล้วยดิบๆ มาหั่นบางๆ ตากแดดให้แห้ง และบดให้ละเอียดเป็นแป้ง ใช้ผงกล้วยนี้ในปริมาณ 1 – 2 ช้อนโต๊ะ ชงในน้ำร้อนปริมาณเท่ากันเอามาดื่ม หรือใช้ผงกล้วยนี้ในปริมาณ 1 – 2 ช้อนโต๊ะ ใส่ในถ้วยน้ำชา แล้วเอาน้ำผึ้งผสม 1 ช้อนโต๊ะ แล้วดื่มแก้ท้องเสีย

2. ใช้ยาที่ปั้นเป็นลูกกลอนแบบเดียวกับวิธีกินเพื่อรักษาโรคกระเพาะได้เหมือนกัน

 

การใช้กล้วยรักษาท้องผูก

กินกล้วยน้ำว้าสุกงอม วันละ 2 – 4 ผล ช่วยแก้อาการท้องผูก เพราะมีสารเพกตินช่วยหล่อลื่นอุจจาระ และเพิ่มกากอาหาร

 

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

1. ฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุท้องเสีย กล้วยมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย เช่น Escherichia coli

 

2. สารสำคัญในการออกฤทธิ์แก้อาการท้องเสีย พบสาร tannin ซึ่งมีฤทธิ์ฝาดสมาน ใช้แก้อาการท้องเสียได้

 

3. ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะ เมื่อทดลองให้หนูขาวกิน aspirin แล้วกินผงกล้วยดิบ พบว่าป้องกันไม่ให้เกิดแผลได้ เมื่อกินผงกล้วยดิบในขนาด 5 กรัม และรักษาแผลที่เป็นแล้วในขนาด 7 กรัม สารสกัดมีฤทธิ์เป็น 300 เท่าของผงกล้วยดิบ โดยออกฤทธิ์สมานแผลและเพิ่มความแข็งแรงของเนื้อเยื่อเมือก โดยเพิ่มเมือก และเร่งการแบ่งตัวของเซลล์ สารสำคัญในการออกฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะ คือ sitoindoside

 

ข้อควรระวัง

เนื่องจากสารออกฤทธิ์ sitoindoside เป็นสารในกลุ่มสเตอรอยด์ การใช้ระยะยาวจึงต้องระมัดระวังผลข้างเคียง เนื่องจากยังไม่มีผู้ศึกษาพิษของสารสำคัญ แต่ที่เราใช้กล้วยรักษาอาการต่างๆ นั้นไม่ใช่สารสกัด และมีฤทธิ์น้อยกว่าสารสกัด 300 เท่า การรักษาเป็นครั้งเป็นคราวจึงใช้ได้อย่างปล่อดภัย

Leave a Reply