ขมิ้น

| 0 Comments

ชื่ออังกฤษ            Turmeric

ชื่อวิทยาศาสตร์   Curcuma longa Linn. ขมิ้นชัน , Curcuma domestica Valeton. ขมิ้นชัน , Curcuma zedoaria Rosc. ขมิ้นอ้อย

ชื่ออื่นๆ                 ขมิ้นแกง , ขมิ้นหยวก , ขมิ้นหัว , ขี้มิ่น , ตายอ , สะยอ , หมิ้น , ระเมียด

 

ลักษณะพืช

ขมิ้นเป็นพรรณไม้ล้มลุกจำพวกเดียวกับขิง มีหลากหลายพันธุ์ ได้แก่ ขมิ้นขาว ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย มีลักษณะต้น ใบและเหง้าแตกต่างกันเล็กน้อย

ขมิ้น

ขมิ้นขาวมีเหง้าสีนวน ส่วนขมิ้นชันและขมิ้นอ้อยมีเหง้าสีเหลืองเข้มอยู่ใต้ดิน เหง้าเล็กขนาด 1 – 2 เซนติเมตร เปลือกเหง้าเรียบและบาง ใบเลี้ยงเดี่ยวสีเขียวขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายหอก ความกว้าง 10 เซนติเมตร ความยาว 30 – 40 เซนติเมตร ปลายใบแหลม เนื้อใบเรียบมีก้านใบยาว 15 – 30 เซนติเมตร คล้ายใบพุทธรักษา ต้นงอกงามดีในหน้าฝนและร่วงโรยไปในหน้าแล้ง เหลือแต่เหง้าที่ยังคงอยู่ เมื่อเจอฝนใหม่ก็จะแตกหน่่อเป็นต้นใหม่

 

ขมิ้นชันมีกลิ่นฉุนกว่าขมิ้นอ้อย และมีตัวยาหรือสารสำคัญมากกว่าขมิ้นอ้อย จึงนิยมปลูกทำเป็นยารักษาโรค ส่วนขมิ้นอ้อยมีกลิ่นกำลังดี เหมาะจะเป็นเครื่องเทศปรุงอาหาร โดยเฉพาะอาหารภาคใต้ส่วนใหญ่มักมีขมิ้นเป็นส่วนประกอบสำคัญ

 

ออกดอกเป็นช่อใหญ่สีขาวหรือสีเขียวอ่อนยาว 7 – 15 เซนติเมตร กลีบดอกเรียงซ้อนกันอย่างเป็นระเบียบ สีตอบบนเข้มกว่าสีตอนล่าง มีกลีบประดับขนาดใหญ่สีเขียวใบไม้อมชมพูสวยงามมาก ผลกลมมีอยู่ 3 พู

 

การปลูก

ขมิ้นขึ้นได้ทั่วไปในดินร่วนซุยที่มีความชื้น การระบายน้ำดี ไม่ชอบน้ำขัง ชอบอากาศร้อนมีแสงแดด ไม่ชอบร่มเงาไม้ ขยายพันธุ์ด้วยเหง้าตัดเป็นท่อนมีตาประมาณ 2 ตา ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝนซึ่งน้ำยังไม่มาก เอาเหง้าลงแปลงที่เตรียมไว้ซึ้งมีปุ๋ยคอกหรือปุ๋หมักเคล้าอยู่ในดิน ปลูกลึก 5 – 8 เซนติเมตร ทิ้งระยะห่างของแต่ละต้นประมาณ 15 เซนติเมตร ปลูกได้ 4 – 5 สัปดาห์ ขมิ้นจะงอกใบอ่อนออกมาให้เห็น ใช้เวลาประมาณ 7 เดือน ใบขมิ้นจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง พอถึงเดือนที่ 9 ก็ขุดเหง้ามาใช้ได้ หากปลูกในช่วงฤดูฝนไม่ต้องดูแลมากนัก การปลูกไว้ใช้ในครัวเรือนไม่ค่อยพบปัญหาเรื่องโรคและแมลง แต่ถ้าปลูกจำนวนมากก็ควรระวังเรื่องนี้ด้วย

 

ส่วนที่นำมาใช้เป็นยา  เหง้าสด เหง้าแห้งบดเป็นผง มีรสฝาด กลิ่นหอมเฉพาะตัว ใช้รักษาโรคกระเพาะ แก้ท้องอืด ท้องร่วง รักษาแผลแมลงกัดต่อย แผลพุพอง กลากเกลื้อน

 

การใช้ขมิ้นรักษาโรคกระเพาะอาหาร

1. ใช้ผงขมิ้นซึ่งบรรจุในแคปซูล กินครั้งละ 3 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง

2. ใช้ผงขมิ้นชันผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอน กินหลังอาหาร และก่อนนอน ครั้งละ 3 – 5 เม็ด วันละ 3 เวลา

ข้อควรระวัง บางคนกินขมิ้นแล้วท้องเสีย ให้หยุดยาทันที

 

การใช้ขมิ้นรักษาอาการท้องเสีย

1. เหง้าขมิ้นสดหั่นเป็นชิ้นเล็ก 1 กำมือ ( 10 – 20 ) กรัม หรือใช้ขมิ้น แห้ง 5 – 10 กรัม หั่นเป็นชิ้นๆ ต้มกับน้ำพอท่วมแล้วให้น้ำงวดลงเหลือ 1 ใน 3 เอามาดื่มวันละครั้ง

2. ใช้ผงขมิ้นชันผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกอนกินหลังอาหารและก่อนนอน ครั้งละ 3 –5 เม็ด วันละ 3 เวลา

 

การใช้ขมิ้นรักษาแผลแมลงกัดต่อย

1. ใช้ผงขมิ้นชัน 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันหมู 2 – 3 ช้อนโต๊ะ เคี่ยวด้วยไฟอ่อนๆ คนจนน้ำมันกลายเป็นสีเหลือง ใช้น้ำมันที่ได้ใส่แผล

2. นำเหง้าขมิ้นชันสดๆ มาล้างให้สะอาด แล้วตำจนละเอียดคั้นเอาน้ำใส่แผล

3. เอาขมิ้นชันผสมกับน้ำปูนใสเล็กน้อย และผสมสารส้มหรือดินประสิว พอกบริเวณที่แผล และใช้แก้เคล็ดขัดยอก

 

การใช้ขมิ้นรักษาแผลพุพอง

ใช้ขมิ้นแห้งบดเป็นผงโรยแผล เช้า – เย็น หรือเอาขมิ้นสดมาตำให้แหลก คั้นเอาน้ำมาทาแผลพุพอง เช้า – เย็น

 

การใช้ขมิ้นรักษากลากเกลื้อน

ผสมผงขมิ้นกับน้ำ หรือเอาเหง้าสดๆ มาตำให้แหลก แล้วทาบริเวณที่เป็นกลากเกลื้น 2 ครั้งต่อวัน ติดต่อกันจนหาย

 

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

สารเคมี  รากและเหง้า มีสารสำคัญเป็นน้ำมันหอมระเหย ร้อยละ 2 – 3 เป็นน้ำมันสีเหลืองมีหลายชนิดคือ tumerone , zingerene , bisaboline , zingiberene , (+)sabinene , alpha-phellandrene curcumone , และมี curcumin อยู่ร้อยละ 1.8 – 5.4

 

1. ฤทธิ์ขับลมของขมิ้นเป็นผลมาจากน้ำมันหอมระเหย และน้ำมันหอมระเหยจากหัวขมิ้นมีฤทธิ์ต้านฮีสตามีน โดยมีฤทธิ์ต้านฮีสตามีนในระยะแรกของการอักเสบ โดยผ่านกระบวนการยับยั้ง trypsin หรือ hyaluronidase ได้มีการทดลองในผู้ป่วยโรคท้องอืดท้องเฟ้อ จำนวน 160 คน โดยกินแคปซูล วันละ 4 ครั้ง พบว่าได้ผลดีกว่ายาขับลมและผู้ป่วยพอใจ

 

2. ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ขมิ้นสามารถต้านการเกิดแผลในกระเพาะ โดยกระตุ้นการหลั่งเยื่อเมือก (mucin) มาเคลือบเยื่อบุกระเพาะ และยับยั้งการหลั่งน้ำย่อยต่างๆ สารสำคัญในการออกฤทธิ์ คือ curcumin ในขนาด 50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม สามารถกระตุ้นการหลั่ง mucin ออกมาเคลือบกระเพาะ แต่ถ้าใช้ในขนาดสูงอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะได้ การทดลองในผู้ป่วย โรคกระเพาะอาหารเป็นแผล กินครั้งละ 3 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง พบว่าได้ผลดี

 

3. สารสำคัญในการในการออกฤทธิ์ลดการอักเสบ คือ สาร curcmin และอนุพันธุ์ ซึ่งลดการอักเสบได้ดี เมื่อเปรียบเทียบกับ ยา phenylbutazone พบว่ามีฤทธิ์พอๆ กันในกรณีการอักเสบเฉียบพลัน ส่วนกรณีการอักเสบเรื้อรังมีฤทธิ์เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น แต่ฤทธิ์ทำให้เกิดแผลน้อยกว่ายา phenylbutazone สำหรับ Curcumin จะมีฤทธิ์ลดการอักเสบ เป็นสัดส่วนกับขนาดที่ใช้จนถึงขนาด 30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เมื่อให้สูงกว่านี้ฤทธิ์จะลดลงได้ มีผู้ทดลองรักษาแผลหลังผ่าตัด 40 ราย พบว่าให้ผลลดการอักเสบได้เหมือนยา phenylbutazone

 

4. ฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สารสกัดขมิ้นและน้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด ทั้งแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการแน่นจุกเสียดหรือท้องเสีย ขมิ้นสามารถยับยั้งการเกิดกรดเนื่องจาก Lactobacillus acidophilus และ L. plantarum และยังออกฤทธิ์ยับยั้งการเกิดแก๊สเนื่องจากเชื้อ Escherichia coli นอกจากนี้ขมิ้นยังยั้งแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง สารสำคัญในการออกฤทธิ์ คือ curcumin , p-tolylmethylcarbinol และน้ำมันหอมระเหย

 

5. ขมิ้นมีฤทธิ์ขับน้ำดี สารสำคัญในการออกฤทธิ์นี้ คือ curcumin และ p-tolyl-methylcarbinol ซึ่งสามารถขับน้ำดี และกระตุ้นการสร้างน้ำดีโดยไม่มีผลต่อความดันโลหิตและการหายใจ นอกจากนี้ cineole ที่พบในน้ำมันหอมระเหย ยังมีฤทธิ์กระตุ้นการขับน้ำดีด้วย

 

6. ฤทธิ์ลดการบีบตัวของสำไส้ ในบางรายโดยเฉพาะผู้เป็นโรคกระเพาะ มักจะมีอาการปวดเกร็งร่วมด้วย ขมิ้นมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบโดยออกฤทธิ์ต้าน acetylcholine , barium choride และ serotonin และยังมีผู้พบว่าสามารถลดการหดตัวกล้ามเนื้อเรียบมดลูก จึงช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้

 

7. ฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา มีผู้พบฤทธิ์ของผงขมิ้น น้ำมันหอมระเหย และสารสกัดขมิ้นด้วยแอลกอฮอล์ chloroform มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราที่เป็นสาเหตุโรคผิวหนังในคน โดยเฉพาะเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลากเกลื้อนคือ เกลื้อน Microsporum , กลาก Trichophyton และกลาก Epidermophyton

 

8. การทดสอบความเป็นพิษ

การทดสอบความเป็นพิษในหนูขาว พบว่าทั้งขมิ้นและ curcumin ในขนาดที่สูงกว่าที่ใช้ในคน 1.25 – 125 เท่า ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านการเจริญเติบโต และระดับสารเคมีในเลือด

การทดสอบพิษเฉียบพันในหนูเมื่อให้ในขนาดต่างๆ ไม่พบความผิดปกติต่อหนู

Leave a Reply