ข่า

| 0 Comments

ชื่ออังกฤษ            Galangal

ชื่อวิทยาศาสตร์    Alpinia galanga ( Linn. ) Swartz.,

ชื่ออื่นๆ                 ข่าหลวง , สะเอเชย , เสะเออเคย , ข่าหยวก , ข่าตาแดง ,  รันแดง

 

ลักษณะพืช

ช่าเป็นไม่ล้มลุก มีกาบใบซ้อนทับกัน มองดูคล้ายลำต้นขนาดสูงใหญ่กว่ากระชายมาก ความสูงประมาณ 2 เมตร อยู่เป็นกอเกาะกลุ่มกัน ใบเลี้ยงเดี่ยวสีเขียวยาวรี ปลายแหลม กว้าง 10 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร เนื้อใบสองข้างมักไม่เท่ากัน ใบออกเรียงสลับตรงข้ามกัน

 

ออกดอกเป็นช่อยาวที่ยอด ก้านช่อยาว 10 – 30 เซนติเมตร ดอกขนาดเล็กมีอยู่เป็นจำนวนมาก กลีบดอกสีขาว กลีบใหญ่ที่สุดมีริ้วสีแดง ผลเปลือกแข็งรูปร่างกลมหรือรี สีแดงอมส้ม ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร มี 2 – 3 เมล็ดอยู่ภายใน ผลแก่จัดจะมีสีดำ

 

มีเหง้าขนาดใหญ่อยู่ใต้ดิน ลักษณะเหง้าแข็งและเป็นข้อปล้อง ใหญ่กว่าหัวแม่เท้า มักคดไปมา มีรากแข็งหลายเส้นออกมาจากเหง้าข่า เนื้อข่ามีสีเหลืองกลิ่นหอม ใช้เป็นเครื่องเทศและยา

ข่า

การปลูก

ข่าเป็นพืชเมื่องร้อนแถบเอเชีย เช่น ไทย ฟิลิปปินส์ ขยายพันธุ์ด้วยการตัดเอาแง่งยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ให้มีรากและดินติดมาด้วย ใส่ลงไปในหลุมที่ขุดเตรียมไว้ลึกประมาณ 3 – 5 นิ้ว ดินเคล้ากับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักแล้ว แล้วเอาดินร่วนซุยกลบมิด รดน้ำให้ชุ่มวันละ 1 – 2 ครั้ง แต่ไม่ควรให้มีน้ำขังจะเน่าตาย ควรปลูกในฤดูฝนจะงอกงามดีมาก ปลูกง่ายไม่มีแมลงรบกวน แล้วไม่ต้องใส่ปุ๋ยอีกเลยก็ได้ ในครัวเรือนควรปลูกไว้ใช้สัก 1 – 2 กอ สำหรับปรุงอาหาร เป็นเครื่องเทศ เครื่องแกง เป็นผักจิ้มน้ำพริก และทำเป็นยา ปลูกครั้งเดียวใช้ได้นานไปอีกหลายปี

 

ส่วนที่นำมาใช้เป็นยา เหง้าแก่ สดและแห้ง มีรสเผ็ดร้อน ฝาดเฝื่อน ใช้แก้ท้องอืด แน่นจุกเสียด แก้โรคเกลื้อน

 

การใช้ข่ารักษาอาการแน่นจุกเสียด

1. ใช้เหง้าสด 5 กรัม หรือเหง้าแห้ง 2 กรัม ต้มกับน้ำจนเดือดรินน้ำดื่ม

2. กวนหัวข่าตำละเอียดกับน้ำปูนใส 2 แก้ว นำมาดื่ม

 

การใช้ข่ารักษาโรคกลาก

1. ใช้เหง้าสดกับเหล้าโรงหรือน้ำส้มสายชู หรือเหง้าสดตำแช่แอลกอฮอล์ทาบริเวณที่เป็นเกลื้อน เช้า – เย็น

2. เอาข่าปอกเปลือกนิดหน่อย จุ่มเหล้าแล้วเอามาทา บริเวณที่เป็นเกลื้อน ทาถูแรงๆ เช้า – เย็น

3. เอาหัวข่าแก่ๆ ล้างให้สะอาดฝานเป็นแว่นบางๆ หรือทุบพอแตกนำไปแช่เหล้าขาวทิ้งไว้สัก 1 คืน เอามาทาถูแรงๆ บริเวณที่เป็นเกลื้นจนพอแดง จะรู้สึกแสบๆ เย็นๆ ทาเช้าและเย็น ( หลังการแช่เหล้า 1 คืน ) ทำให้ตัวยาออกมามากขึ้น

4. ใช้ข่าสดตัดท่อนละ 1 นิ้วทุบให้แตกพอช้ำ อย่าถึงกับละเอียด ใส่ถ้วยแช่เหล้าโรงประมาณ 1/4 ถ้วยชา ใช้สำลีชุบทาเช้า – เย็น

 

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

สารเคมี i-acetoxychavicol acetate , น้ำมันหอมระเหยซึ่งประกอบด้วย monoterpene , 2-terpinenol , terpinen-4-ol , cineole , camphor ( การบูร ) , linaloo และ eugenol

 

1. ฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ เนื่องจากพบว่าเหง้าข่ามีสารซึ่งออกฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้เล็ก คือ cineole , camphor และ eugenol

 

2. ฤทธิ์ขับน้ำดี ข่ามี eugenol ซึ่งมีฤทธิ์ขับน้ำดี จึงช่วยในการย่อยอาหารได้ดีขึ้น

 

3. ฤทธิ์ขับลม ข่ามีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีฤทธิ์ขับลม ลดอาการท้องอืดเฟ้อ

 

4. ฤทธิ์ลดการอับเสบ พบสารออกฤทธิ์ คือ 1’-acetoxychavicol acetate และ 1’-acetoxy eugenol acetate และ eugenol จึงอาจช่วยลดอาการแน่นจุกเสียดเนื่องจากแผลในกระเพาะอาหาร

 

5. ฤทธิ์ฆ่าแบคทีเรีย สาเหตุอาการแน่นจุกเสียด ข่ามีสารสำคัญคือ eugenol ในการออกฤทธิ์ฆ่าแบคทีเรียในลำไส้ทำให้ลดอาการจุกเสียดได้

 

6. ฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา ได้มีการนสารสกัดต่างๆ จากเหง้าข่าไปทดสอบฆ่าเชื้อราก่อโรคกลาก คือเชื้อรา Microsporum gypseum , เชื้อรา tricho phyton rubrum พบว่าสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ และคลอโรฟอร์ม สารสกัดด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์ ให้ผลดี สารสกัดด้วยน้ำให้ผลเล็กน้อย ส่วนน้ำเปล่าคั้นเหง้าข่า ไม่ให้ผลฆ่าเชื้อราเลย ซึ่งจะเห็นว่าข้อแนะนำการใช้รักษากลากล้วนแต่ให้ผสมกับเหล้า สารสำคัญในการออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา คือ 1’-acetoxychavicol acetate และ 1’-acetoxy eugenol acetate ได้มีการศึกษาการรักษากลากในคนโดยเปรียบเทียบ tolnaftate พบว่าได้ผลดี

 

7. การทดสอบความเป็นพิษ สารสกัดข่าด้วยแอลกอฮอล์ 50% ขนาด 10 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ให้หนูถีบจักร โดยการกรอกปากและฉีดเข้าใต้ผิวหนังพบว่าไม่เป็นพิษ ซึ่งขนาดที่ใช้เป็น 250 เท่าของที่ใช้รักษาในคน

Leave a Reply