วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555
by Jeerasak
0 Comments

ฝรั่ง

ชื่ออังกฤษ            Guava

ชื่อวิทยาศาสตร์    Psidium guajava Linn.

ชื่ออื่นๆ                 จุ่มโป่ , ชมพู่ , มะก้วย , มะกา , มะจีน , ยะมูบุเตบันยา , ยะริง , ยาม , มะแกว , มะปู่่น , มะมั่น , มะก้วยกา , บักสีดา , ยามู , ละปวด

 

ลักษณะพืช

ฝรั่งเป็นไม่ยืนต้นขนาดเล็ก ลำต้นกลมแข็งแรง สูงได้ถึง 15 เมตร แตกกิ่งก้านทรงพุ่ม มักแผ่กิ่งก้านกลมออกด้านข้างมากกว่าจะชูขึ้นข้างบนแต่กิ่งอ่อนจะเป็นสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยวสีเขียวออกคู่ตรงกันข้าม ปลายและโคนใบมน หรือปลายมีติ่งแหลม ผิวใบสาก เส้นกลางใบใหญ่และแข็ง ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย

ฝรั่ง

ออกดอกเป็นช่อสีขาวที่ง่ามใบและปลายกิ่ง หรือออกดอกเดี่ยว กลีบเลี้ยง 4 – 5 กลีบ สีเขียวขนาดไม่เท่ากัน กลีบดอก 5 กลีบ สีขาวรูปขอบขนานมีเกสรตัวผู้เป็นฝอยอยู่มากมาย ผลดิบมีสีเขียวเข้ม เมื่อแก่ขึ้นสีเขียวจะจางลง และเมื่อสุกจะกลายเป็นสีออกเหลือง เนื้อในสีขาว มีเมล็ดแข็งกลมเล็กจำนวนมาก

 

การปลูก

ตอนกิ่งหรืเพาะเมล็ด หรือทาบกิ่ง ปลูกลงในหลุมที่เตรียมไว้กว้างและยาว 1 เมตร หลุมลึก 50 เชนติเมตร มีปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกคลุมเคล้ากับดินก้นหลุม เอาดินกลบแล้วรดน้ำให้ชุ่มวันละ 2 ครั้ง จนต้นฝรั่งแข็งแรงดี ต้นฝรั่งชอบดินร่วนปนทราย มีอาหารอุดมสมบูรณ์ และน้ำไม่ขัง ออกดอกผลที่อายุประมาณ 1 – 2 ปี ควรพรวนดิน กำจัดวัชพืชและให้ปุ๋ยเป็นระยะ ฝรั่งมีดอกผลทั้งปี โดยออกผลมากช่วงฤดูฝน ในขณะติดผลใหญ่เท่าลูกมะนาวควรหาถุงพลาสติกมาห่อผลเพื่อไม่ให้แมลงงวันทองมาเจาะ หากใม่ห่อก็ต้องฉีดยาฆ่าแมลงการห่อจะทำให้ผลขาวนวนน่ากินด้วย

 

ส่วนที่นำมาเป็นยา  ใบ และ ผลดิบ มีรสฝาด ใช้แก้ท้องร่วง ดับกลิ่นปาก

 

การใช้ฝรั่งแก้ท้องร่วง

1. นำฝรั่งมาล้างน้ำให้สะอาด ประมาณ 10 – 15 ใบ แล้วโขลกพอแหลก ใส่น้ำ 1 แก้วใหญ่ นำไปต้มใส่เกลือพอมีรสกร่อย พอเดือดยกลง นำมาดื่มแทนชาได้ผลดี อย่าดื่มมากจะทำให้ท้องผูก

2. นำผลฝรั่งอ่อนๆ มาฝานเอาแต่เปลือกกับเนื้อเท้านั้น ส่วนเมล็ดทิ้งไป ใส่เกลือเล็กน้อย แล้วเคี้ยวกิน หรือจะเอาต้มกับน้ำสะอาด เอาน้ำี่ได้มาดื่ม

3. ยอดอ่อนๆ ปิ้งให้เหลืองกรอบ ต้มกับน้ำ ดื่มแก้ท้องร่วง

 

การใช้ฝรั่งดับกลิ่นปาก กลิ่นบุหรี่่ กลิ่นสุรา

เคี้ยวยอดฝรั่งอ่อนๆ ในปากสักครู่ จึงคายทิ้ง เป่าลมในปากใส่อุ้งมือที่อังไว้ข้างหน้าปาก จะทำให้รู้ได้ว่ากลิ่นปากหมดไปหรือยัง ถ้ายังให้เอายอดอ่อนอันใหม่มาเคี้ยว จนกว่ากลิ่นในปากจะหมดไป

 

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

สารเคมี  ใบฝรั่งมีน้ำมันหอมระเหยด้วย ซึ่งประกอบด้วย caryophyllene , cineol นอกจากนั้นยังมี tannin , sesquiterpenoids และ triterpenoid compounds

ผลฝรั่งมีน้ำมัน fixed oil 6% น้ำมันหอมระเหย volatile oil 0.365% สารฝาดสมาน tannin 8 – 15% , beta – sitosterol และ quercetin

1. ใบฝรั่งมีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ สารสกัดจากใบด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ลดการบีบตัวลำไส้เล็กของหนู จึงลดอาการท้องเสีย สารสำคัญในการออกฤทธิ์แก้ท้องเสีย คือ quercetin และ quercetin – 3arabinoside ลดการบีบตัวของลำไส้ โดยยับยั้ง acetylcholine จึงทำให้หยุดถ่าย

 

2. ใบมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียสาเหตุของท้องเสีย สารสกัดจากใบฝรั่ง ด้วยน้ำ สามารถต้านเชื้อบิดไม่มีตัว Shigella dysentriae การทดลองใช้รักษาอาการท้องเสีย มีรายงานการรักษาโดยใช้แคปซูลใบฝรั่งแห้งบดเป็นผงกับคนไข้อุจจระร่วง 122 คน ชาย 64 หญิง 58 คน โดยกิน 2 แคปซูง แคปซูลละ 250 มิลลิกรัม ทุก 3 ชั่วโมง 3 วัน พบว่าได้ผลดีกว่ายาปฎิชีวนะ tetracycline และไม่พบอาการข้างเคียง

 

3. ผลอ่อนมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียสาเหตุท้องเสีย โดยการทดลองกับเชื้อโรคไทฟอยด์ ได้ผลระงับท้องเสียอย่างดี ในผลฝรั่งอ่อนยังมีสาร tannin มีฤทธิ์ฝาดสมาน ใช้แก้อาการท้องเสีย

วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555
by Jeerasak
0 Comments

กล้วยน้ำว้า

ชื่ออังกฤษ             Banana , Cultivated banana

ชื่อวิทยาศาสตร์    Musa sapientum Linn. , Musa paradisaca var sapientum ( Linn. ) O. Kutze

ชื่ออื่นๆ                  กล้วยใต้ , กล้วยนาก , กล้วยมณีอ่อน , กล้วยส้ม , เจกซอ , มะลิอ่อง , ยะไข่

 

ลักษณะพืช

กล้วยเป็นพืชล้มลุก ลำต้นกลมใหญ่ มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ต้นมีกาบสีเขียวอ่อนหุ้มหลายชั้น ใบเดี่ยวเป็นทางยาวใหญ่ยาวกว่า 1 เมตร เรียงเดี่ยวกางออกทุกทิศทาง เส้นกลางใบใหญ่และแข็ง หลังใบสีเขียวเข้ม ท้องใบสีเขียวอ่อนและมีสีนวลขาว มีดอกใหญ่สีแดงอิฐเป็นช่อยาวห้อยลงเรียกว่า “หัวปลี” มลักษณะเป็นกลีบใหญ่ซ้อนทับกัน ข้างในเป็นกลีบสีขาวซ้อนกัน ต่อมาก็โตขึ้นเป็นผลดิบกลมยาวสีเขียว ออกผลเป็นเครือที่มีอยู่หลายหวีซ้อนกัน ผลสุกมีสีเหลืองทอง ผลกล้วยเหมาะสำหรับกินสุก ออกผลหนึ่งครั้งแล้วต้นจะถูกตัดทำลาย

กล้วยน้ำว้า

การปลูก

กล้วยเป็นพืชเมืองร้อน มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบประเทศเอเชียอาคเนย์ขยายพันธุ์ด้วยการใช้หน่ออ่อนแยกปลูก ลงหลุมลึก 0.5 เมตร ปลูกห่างกัน 2 – 3 เมตร ใส่ปุ๋ยหมักที่ก้นหลุม กลบดินให้แน่นเพื่อให้ต้นมั่นคง ชอบดินที่อุ้มน้ำได้ดี ควรปลูกต้นฤดูฝน ไม่ต้องรดน้ำเพราะปลูกง่าย แต่ปลูกหน้าแล้งได้ยากมักจะเหี่ยวเฉา กล้วยจะให้ผลเมื่ออายูได้ 8 เดือน

 

ส่วนที่นำมาใช้เป็นยา ผลกล้วยดิบมีรสฝาด ใช้แก้ท้องเสีย โรคกระเพาะ ผลสุกมีรสหวาน ใช้เป็นยาระบาย

 

การใช้กล้วยรักษาโรคกระเพาะอาหาร

1. ใช้ผลกล้วยดิบ หรืออาจฝานบางๆ ตากแดดให้แห้งแล้วบดให้ละเอียดเป็นผง เวลาใช้ชงน้ำร้อนดื่ม รักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบได้เพราะมีสรรพคุณฝาดสมานแผล กระตุ้นกระเพาะให้หลั่งสาร mucin ออกมา บางคนกินแล้วมีอาการแน่นท้องจุกเสียด ให้ดื่มสมุนไพรขับลม เช่น กะเพราหรือขิงหรือยาธาตุเปลือกอบเชย ก็จะหายจากอาการแน่นท้อง

2. ใช้ผลกล้วยดิบที่ฝานบางๆ แล้วตากแดดให้แห้ง จากนั้นก็บดให้ละเอียดเป็นผง ป้ันเป็นยาลูกกลอนกินครั้งละ 4 เม็ด หลังมื้ออาหาร

 

การใช้กล้วยรักษาอาการท้องเสีย

1. ใช้กล้วยดิบๆ มาหั่นบางๆ ตากแดดให้แห้ง และบดให้ละเอียดเป็นแป้ง ใช้ผงกล้วยนี้ในปริมาณ 1 – 2 ช้อนโต๊ะ ชงในน้ำร้อนปริมาณเท่ากันเอามาดื่ม หรือใช้ผงกล้วยนี้ในปริมาณ 1 – 2 ช้อนโต๊ะ ใส่ในถ้วยน้ำชา แล้วเอาน้ำผึ้งผสม 1 ช้อนโต๊ะ แล้วดื่มแก้ท้องเสีย

2. ใช้ยาที่ปั้นเป็นลูกกลอนแบบเดียวกับวิธีกินเพื่อรักษาโรคกระเพาะได้เหมือนกัน

 

การใช้กล้วยรักษาท้องผูก

กินกล้วยน้ำว้าสุกงอม วันละ 2 – 4 ผล ช่วยแก้อาการท้องผูก เพราะมีสารเพกตินช่วยหล่อลื่นอุจจาระ และเพิ่มกากอาหาร

 

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

1. ฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุท้องเสีย กล้วยมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย เช่น Escherichia coli

 

2. สารสำคัญในการออกฤทธิ์แก้อาการท้องเสีย พบสาร tannin ซึ่งมีฤทธิ์ฝาดสมาน ใช้แก้อาการท้องเสียได้

 

3. ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะ เมื่อทดลองให้หนูขาวกิน aspirin แล้วกินผงกล้วยดิบ พบว่าป้องกันไม่ให้เกิดแผลได้ เมื่อกินผงกล้วยดิบในขนาด 5 กรัม และรักษาแผลที่เป็นแล้วในขนาด 7 กรัม สารสกัดมีฤทธิ์เป็น 300 เท่าของผงกล้วยดิบ โดยออกฤทธิ์สมานแผลและเพิ่มความแข็งแรงของเนื้อเยื่อเมือก โดยเพิ่มเมือก และเร่งการแบ่งตัวของเซลล์ สารสำคัญในการออกฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะ คือ sitoindoside

 

ข้อควรระวัง

เนื่องจากสารออกฤทธิ์ sitoindoside เป็นสารในกลุ่มสเตอรอยด์ การใช้ระยะยาวจึงต้องระมัดระวังผลข้างเคียง เนื่องจากยังไม่มีผู้ศึกษาพิษของสารสำคัญ แต่ที่เราใช้กล้วยรักษาอาการต่างๆ นั้นไม่ใช่สารสกัด และมีฤทธิ์น้อยกว่าสารสกัด 300 เท่า การรักษาเป็นครั้งเป็นคราวจึงใช้ได้อย่างปล่อดภัย


by Jeerasak
0 Comments

ข่า

ชื่ออังกฤษ            Galangal

ชื่อวิทยาศาสตร์    Alpinia galanga ( Linn. ) Swartz.,

ชื่ออื่นๆ                 ข่าหลวง , สะเอเชย , เสะเออเคย , ข่าหยวก , ข่าตาแดง ,  รันแดง

 

ลักษณะพืช

ช่าเป็นไม่ล้มลุก มีกาบใบซ้อนทับกัน มองดูคล้ายลำต้นขนาดสูงใหญ่กว่ากระชายมาก ความสูงประมาณ 2 เมตร อยู่เป็นกอเกาะกลุ่มกัน ใบเลี้ยงเดี่ยวสีเขียวยาวรี ปลายแหลม กว้าง 10 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร เนื้อใบสองข้างมักไม่เท่ากัน ใบออกเรียงสลับตรงข้ามกัน

 

ออกดอกเป็นช่อยาวที่ยอด ก้านช่อยาว 10 – 30 เซนติเมตร ดอกขนาดเล็กมีอยู่เป็นจำนวนมาก กลีบดอกสีขาว กลีบใหญ่ที่สุดมีริ้วสีแดง ผลเปลือกแข็งรูปร่างกลมหรือรี สีแดงอมส้ม ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร มี 2 – 3 เมล็ดอยู่ภายใน ผลแก่จัดจะมีสีดำ

 

มีเหง้าขนาดใหญ่อยู่ใต้ดิน ลักษณะเหง้าแข็งและเป็นข้อปล้อง ใหญ่กว่าหัวแม่เท้า มักคดไปมา มีรากแข็งหลายเส้นออกมาจากเหง้าข่า เนื้อข่ามีสีเหลืองกลิ่นหอม ใช้เป็นเครื่องเทศและยา

ข่า

การปลูก

ข่าเป็นพืชเมื่องร้อนแถบเอเชีย เช่น ไทย ฟิลิปปินส์ ขยายพันธุ์ด้วยการตัดเอาแง่งยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ให้มีรากและดินติดมาด้วย ใส่ลงไปในหลุมที่ขุดเตรียมไว้ลึกประมาณ 3 – 5 นิ้ว ดินเคล้ากับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักแล้ว แล้วเอาดินร่วนซุยกลบมิด รดน้ำให้ชุ่มวันละ 1 – 2 ครั้ง แต่ไม่ควรให้มีน้ำขังจะเน่าตาย ควรปลูกในฤดูฝนจะงอกงามดีมาก ปลูกง่ายไม่มีแมลงรบกวน แล้วไม่ต้องใส่ปุ๋ยอีกเลยก็ได้ ในครัวเรือนควรปลูกไว้ใช้สัก 1 – 2 กอ สำหรับปรุงอาหาร เป็นเครื่องเทศ เครื่องแกง เป็นผักจิ้มน้ำพริก และทำเป็นยา ปลูกครั้งเดียวใช้ได้นานไปอีกหลายปี

 

ส่วนที่นำมาใช้เป็นยา เหง้าแก่ สดและแห้ง มีรสเผ็ดร้อน ฝาดเฝื่อน ใช้แก้ท้องอืด แน่นจุกเสียด แก้โรคเกลื้อน

 

การใช้ข่ารักษาอาการแน่นจุกเสียด

1. ใช้เหง้าสด 5 กรัม หรือเหง้าแห้ง 2 กรัม ต้มกับน้ำจนเดือดรินน้ำดื่ม

2. กวนหัวข่าตำละเอียดกับน้ำปูนใส 2 แก้ว นำมาดื่ม

 

การใช้ข่ารักษาโรคกลาก

1. ใช้เหง้าสดกับเหล้าโรงหรือน้ำส้มสายชู หรือเหง้าสดตำแช่แอลกอฮอล์ทาบริเวณที่เป็นเกลื้อน เช้า – เย็น

2. เอาข่าปอกเปลือกนิดหน่อย จุ่มเหล้าแล้วเอามาทา บริเวณที่เป็นเกลื้อน ทาถูแรงๆ เช้า – เย็น

3. เอาหัวข่าแก่ๆ ล้างให้สะอาดฝานเป็นแว่นบางๆ หรือทุบพอแตกนำไปแช่เหล้าขาวทิ้งไว้สัก 1 คืน เอามาทาถูแรงๆ บริเวณที่เป็นเกลื้นจนพอแดง จะรู้สึกแสบๆ เย็นๆ ทาเช้าและเย็น ( หลังการแช่เหล้า 1 คืน ) ทำให้ตัวยาออกมามากขึ้น

4. ใช้ข่าสดตัดท่อนละ 1 นิ้วทุบให้แตกพอช้ำ อย่าถึงกับละเอียด ใส่ถ้วยแช่เหล้าโรงประมาณ 1/4 ถ้วยชา ใช้สำลีชุบทาเช้า – เย็น

 

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

สารเคมี i-acetoxychavicol acetate , น้ำมันหอมระเหยซึ่งประกอบด้วย monoterpene , 2-terpinenol , terpinen-4-ol , cineole , camphor ( การบูร ) , linaloo และ eugenol

 

1. ฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ เนื่องจากพบว่าเหง้าข่ามีสารซึ่งออกฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้เล็ก คือ cineole , camphor และ eugenol

 

2. ฤทธิ์ขับน้ำดี ข่ามี eugenol ซึ่งมีฤทธิ์ขับน้ำดี จึงช่วยในการย่อยอาหารได้ดีขึ้น

 

3. ฤทธิ์ขับลม ข่ามีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีฤทธิ์ขับลม ลดอาการท้องอืดเฟ้อ

 

4. ฤทธิ์ลดการอับเสบ พบสารออกฤทธิ์ คือ 1’-acetoxychavicol acetate และ 1’-acetoxy eugenol acetate และ eugenol จึงอาจช่วยลดอาการแน่นจุกเสียดเนื่องจากแผลในกระเพาะอาหาร

 

5. ฤทธิ์ฆ่าแบคทีเรีย สาเหตุอาการแน่นจุกเสียด ข่ามีสารสำคัญคือ eugenol ในการออกฤทธิ์ฆ่าแบคทีเรียในลำไส้ทำให้ลดอาการจุกเสียดได้

 

6. ฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา ได้มีการนสารสกัดต่างๆ จากเหง้าข่าไปทดสอบฆ่าเชื้อราก่อโรคกลาก คือเชื้อรา Microsporum gypseum , เชื้อรา tricho phyton rubrum พบว่าสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ และคลอโรฟอร์ม สารสกัดด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์ ให้ผลดี สารสกัดด้วยน้ำให้ผลเล็กน้อย ส่วนน้ำเปล่าคั้นเหง้าข่า ไม่ให้ผลฆ่าเชื้อราเลย ซึ่งจะเห็นว่าข้อแนะนำการใช้รักษากลากล้วนแต่ให้ผสมกับเหล้า สารสำคัญในการออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา คือ 1’-acetoxychavicol acetate และ 1’-acetoxy eugenol acetate ได้มีการศึกษาการรักษากลากในคนโดยเปรียบเทียบ tolnaftate พบว่าได้ผลดี

 

7. การทดสอบความเป็นพิษ สารสกัดข่าด้วยแอลกอฮอล์ 50% ขนาด 10 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ให้หนูถีบจักร โดยการกรอกปากและฉีดเข้าใต้ผิวหนังพบว่าไม่เป็นพิษ ซึ่งขนาดที่ใช้เป็น 250 เท่าของที่ใช้รักษาในคน

วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555
by Jeerasak
0 Comments

ขิง

ชื่ออังกฤษ              Ginger

ชื่อวิทายาศาสตร์   Zingiber officinale Roscoe

ชื่ออื่นๆ                   ขิงเผือก , สะเอ , ขิงแดง , ขิงแกลง , เกีย , กะแง็ย

 

ลักษณะพืช

ขิงเป็นไม่ล้มลุกขนาดใกล้เคียงกับกระชาย สูงประมาณ 50 – 100 เซนติเมตร แต่ใบเลี้ยงเดี่ยวเล็กเรียวยาวปลายแหลม จำนวนใบจะเยอะกว่ากระชายมาก ใบออกสลับตรงข้ามกัน ใบกว้าง 1 – 3 เซนติเมตร ยาว 10 – 25 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ มีกาบใบหุ้มลำต้นภายในที่เป็นข้อปล้องสีขาว

 

ออกดอกเป็นช่อสีขาว มีกาบสีเหลืองแกมเขียวแทงขึ้นมาจากเหง้าใต้ดินห่อรองรับ ดอกจำนวนมากอัดแน่นเป็นรูปทรงกระบอกยาว 4 – 7 เซนติเมตร ก้านช่อยาว 10 – 20 เซนติเมตร

ขิง

เหง้าขิงสีเหลืองนวนอยู่ใต้ดินมีลักษณะเป็นแง่ง ขนาดเท่าหัวแม่มือ มักงอโค้งและแตกแขนงคล้ายนิ้วมือ ผิวเปลือกเหง้าขิงอ่อนนิ่มสีนวน ปอกง่าย ขิงแก่เปลือกหนาขึ้นและมีสีน้ำตาล มีกลิ่นแรงกว่าขิงอ่อน

 

การปลูก

ขิงเป็นพืชพื้นเมืองของประเทศแถบเอเชีย เช่นไทย จีน อินเดีย นิยมปลูกใกล้ครัวเรือนเพื่อสะดวกในการเก็บมาประกอบอาหาร ขยายพันธุ์ด้วยการใช้เหง้าแก่ ใส่ลงไปในหลุมดินเหนียวปนทรายผสมปุ๋ยหมัก ลึกประมาณ 3 –5 เซนติเมตร ปลูกเป็นแนวยาว ทิ้งช่วงห่างระหว่างต้น 20 เซนติเมตร เอาดินกลบแล้วใช้ฟางหรือทางมะพร้าวที่แห้งหล่นจากต้นมาคลุมกันแดดและรักษาความชุ่มชื้น แต่อย่าให้น้ำขังจะเน่าตาย ปลูกขึ้นง่ายในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม

 

มักจะมีหนอนกระทู้ เพลี้ย และไส้เดือนฝอยมากินเหง้าขิง จึงควรหมั่นตรวจแปลงหลังฝนตก หมั่นกำจัดวัชพืช เมื่อต้นขิงโตอายุ 1 เดือนควรตักเอาดินข้างๆ มากลบโคนเพื่อให้น้ำตกลงไปในร่องข้างๆ ไหลออกไปทำให้ต้นขิงอยู่มั่นคงขึ้นด้วย ในบรรดาพืชที่อยู่วงศ์เดียวกันคือ ข่า , กระชาย , ขมิ้น ขิงจะเป็นพืชที่ปลูกยากที่สุด ควรปลูกเป็นแปลง 3 – 4 แปลง จึงจะพอใช้ในครัวเรือน เนื่องจากไม่ค่อยแตกหน่อ และหากต้องการมีใช้ตลอดปีจะต้องดูแลเป็นพิเศษ

 

ส่วนที่นำมาใช้เป็นยา ขิงส่วนที่เป็นเหง้า โดยเฉพาะเหง้าแก่สด มีรสเผ็ดร้อน กลิ่นหอมฉุน ใช้แก้คลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง แก้ไอ ขับเสมหะ

 

การใช้ขิงรักษาอาการอาเจียน

1. ใช้เหง้าสดขนาดหัวแม่มือ ( ประมาณ 5 กรัม ) ทุบให้แตกต้มกับน้ำพอท่วม เอาน้ำมาจิบช้าๆ บ่อยๆ จะเติมน้ำตาลเล็กน้อยด้วยก็ได้

2. ผงขิงแห้ง 1 ช้อนโต๊ะ หรือ 0.6 กรัมใช้ชงน้ำร้อนเติมน้ำตาลดื่ม

 

การใช้ขิงรักษาอาการแน่นจุกเสียด

1. ใช้เหง้าสดขนาดหัวแม่มือ ( ประมาณ 5 กรัม ) ทุบให้แตก เทน้ำเดือดลงไป 1/2 แก้ว ปิดฝาตั้งทิ้งไว้นาน 5 นาที รินเอาแต่น้ำหรือทุบแหลกแล้วต้มกับน้ำพอท่วมให้เดือด แล้วเอาน้ำดื่ม 2 – 3 ครั้ง หรือ ต้มให้น้ำงวดเหลือครั้งหนึ่งแล้วจึงดื่มน้ำขิงข้นๆ

2. ใช้ผงขิงแห้ง 1 ช้อนโต๊ะ หรือ 0.6 กรัม ชงกับน้ำร้อนดื่ม

 

การใช้ขิงรักษาอาการไอ ขับเสมหะ

ใช้ขิงฝนกับน้ำมะนาว แทรกเกลือ ใช้กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ

 

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

สารเคมี  เหง้าขิงมีสารสำคัญเป็นน้ำมันชัน ( oleoresin ) ร้อยละ 5 – 8 เป็นสารหอมไม่ระเหย ทำให้ขิงมีรสเผ็ดร้อน คือ gingerol , zingiberene , zingiberone , zingibernol , shogaol fenchone camphene , cineol , citronellol ในน้ำมันหอมระเหยซึ่งมีอยู่ร้อยละ 1 – 2 พบสาร bisaboline , zingiberone , zingiberol , zingiberene , limonene , citronellol , gingrol , camphene , borneol , cineol

 

1. ฤทธิ์การยับยั้งอาการอาเจียน ฉีดสารสกัดขิงด้วยเมทานอล 50% ในขนาด 10 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ให้กบทดลองที่ทำให้อาเจียนด้วย copper sulfate พบว่าสามารถต้านอาการอาเจียนได้ และยังมีผู้พบว่าสารสกัดขิงด้วย acetone หรือ 50% ethanol ให้ผลในการป้องกันการอาเจียนที่เกิดจาก cisplatone แต่สารสกัดน้ำไม่ได้ผล และสารสกัดขิงไม่สมารถป้องกันการอาเจียนที่เกิดจาก apomorphine สารสำคัญในการออกฤทธิ์ยับยั้งอาเจียน คือ [6]–[8]–[10]–shogaol และ 10-gingerol

 

2. การทดลองใช้ยับยั้งอาการอาเจียนในคน

สารสกัดขิงด้วยเมทานอน 50% ในขนาด 10 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในอาสาสมัครอายุ 18 – 20 ปี จำนวน 36 คน เป็นชายและหญิงอย่าละครึ่ง ให้คนละ 940 มิลลิกรัมพบว่าสามารถต้านการอาเจียนได้

ใช้ผงขิงกับคนไข้ที่มีอาการวิงเวียน พบว่าได้ผลดีกว่ายา dimenhy drinate

ทดลองใช้กับผู้ป่วยหญิงที่กำลังผ่าตัดมดลูก โดยให้กินผลขิงบรรจุแคปซูลก่อนผ่าตัด พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับผงขิงจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนน้อยกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับ

 

3. ฤทธิ์ขับลม ขิงสามารถลดอาการจุกเสียดได้ดี เนื่องจากมีน้ำมันหอมระเหยซึ่งช่วยขับลม พบสารออกฤทธิ์คือ menthol , cineole ทั้งยังพบว่าสวนสารสกัดด้วยอะซีโตน คือ shogoal และ gingerol ช่วยขับลม

 

4. ฤทธิ์ขับน้ำดี สารสกัดขิงด้วย acetone และผงขิง มีสารสำคัญ คือ borneol , fenchone , 6-gingerol และ 10-gingerol ซึ่งมีฤทธิ์ขับน้ำดีออกมาช่วยย่อยอาหาร

 

5. ฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ น้ำมันหอมระเหยจากราก คือ 6-gingerol และ 6-shogaol สามารถการบีบตัวของลำไส้เล็ก คิดเป็น 12% ของ papaverine

 

6. ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะ เมื่อให้หนูขาวกินสารสกัดขิงด้วยอะซีโตนในขนาด 1 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม พบว่ามีฤทธิ์ลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ 97.5% สารสำศัญในการออกฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะ คือ furanogermerone และเมื่อทดลองทำให้หนูขาวเกิดแผลในกระเพาะด้วยกรด ethanol แล้วให้หนูขาวกิน zingiberine และ 6-gingerol ในขนาด 100 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม พบว่ามีฤทธิ์ลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และพบว่า 6-gingesulfonic acid, ginger glycolipid A , B และ C มีฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วย

 

7. ฤทธิ์ลดการอักเสบ สารซึ่งให้รสเผ็ดในขิงคือ 6-shogaol ซึ่งพบในขิงแห้งมากกว่าขิงสด มีฤทธิ์ลดการอักเสบ โดยป้องกันฤทธิ์ของ cycloo-xygenase activity Gingerol และมีสาร diarylheptanoid เป็นสารต้านการอักเสบ โดยออกฤทธิ์ต้านเอนไซม์ arachidonate-5-lipoxygenase

 

8. ฤทธิ์ลดการหลั่งกรด สารสกัดขิงด้วยแอลกอฮอล์ 50% สามารถลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารได้

 

9. ฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย สารสกัดขิงมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย E. coli.

 

10. ฤทธิ์ยับยั้งการไอ สาร 6-shogaol มีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการไอ โดย 6-shogaol ช่วยเพิ่มการหลั่งเมือกหล่อลื่นในลำคอ

วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2555
by Jeerasak
0 Comments

ขมิ้น

ชื่ออังกฤษ            Turmeric

ชื่อวิทยาศาสตร์   Curcuma longa Linn. ขมิ้นชัน , Curcuma domestica Valeton. ขมิ้นชัน , Curcuma zedoaria Rosc. ขมิ้นอ้อย

ชื่ออื่นๆ                 ขมิ้นแกง , ขมิ้นหยวก , ขมิ้นหัว , ขี้มิ่น , ตายอ , สะยอ , หมิ้น , ระเมียด

 

ลักษณะพืช

ขมิ้นเป็นพรรณไม้ล้มลุกจำพวกเดียวกับขิง มีหลากหลายพันธุ์ ได้แก่ ขมิ้นขาว ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย มีลักษณะต้น ใบและเหง้าแตกต่างกันเล็กน้อย

ขมิ้น

ขมิ้นขาวมีเหง้าสีนวน ส่วนขมิ้นชันและขมิ้นอ้อยมีเหง้าสีเหลืองเข้มอยู่ใต้ดิน เหง้าเล็กขนาด 1 – 2 เซนติเมตร เปลือกเหง้าเรียบและบาง ใบเลี้ยงเดี่ยวสีเขียวขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายหอก ความกว้าง 10 เซนติเมตร ความยาว 30 – 40 เซนติเมตร ปลายใบแหลม เนื้อใบเรียบมีก้านใบยาว 15 – 30 เซนติเมตร คล้ายใบพุทธรักษา ต้นงอกงามดีในหน้าฝนและร่วงโรยไปในหน้าแล้ง เหลือแต่เหง้าที่ยังคงอยู่ เมื่อเจอฝนใหม่ก็จะแตกหน่่อเป็นต้นใหม่

 

ขมิ้นชันมีกลิ่นฉุนกว่าขมิ้นอ้อย และมีตัวยาหรือสารสำคัญมากกว่าขมิ้นอ้อย จึงนิยมปลูกทำเป็นยารักษาโรค ส่วนขมิ้นอ้อยมีกลิ่นกำลังดี เหมาะจะเป็นเครื่องเทศปรุงอาหาร โดยเฉพาะอาหารภาคใต้ส่วนใหญ่มักมีขมิ้นเป็นส่วนประกอบสำคัญ

 

ออกดอกเป็นช่อใหญ่สีขาวหรือสีเขียวอ่อนยาว 7 – 15 เซนติเมตร กลีบดอกเรียงซ้อนกันอย่างเป็นระเบียบ สีตอบบนเข้มกว่าสีตอนล่าง มีกลีบประดับขนาดใหญ่สีเขียวใบไม้อมชมพูสวยงามมาก ผลกลมมีอยู่ 3 พู

 

การปลูก

ขมิ้นขึ้นได้ทั่วไปในดินร่วนซุยที่มีความชื้น การระบายน้ำดี ไม่ชอบน้ำขัง ชอบอากาศร้อนมีแสงแดด ไม่ชอบร่มเงาไม้ ขยายพันธุ์ด้วยเหง้าตัดเป็นท่อนมีตาประมาณ 2 ตา ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝนซึ่งน้ำยังไม่มาก เอาเหง้าลงแปลงที่เตรียมไว้ซึ้งมีปุ๋ยคอกหรือปุ๋หมักเคล้าอยู่ในดิน ปลูกลึก 5 – 8 เซนติเมตร ทิ้งระยะห่างของแต่ละต้นประมาณ 15 เซนติเมตร ปลูกได้ 4 – 5 สัปดาห์ ขมิ้นจะงอกใบอ่อนออกมาให้เห็น ใช้เวลาประมาณ 7 เดือน ใบขมิ้นจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง พอถึงเดือนที่ 9 ก็ขุดเหง้ามาใช้ได้ หากปลูกในช่วงฤดูฝนไม่ต้องดูแลมากนัก การปลูกไว้ใช้ในครัวเรือนไม่ค่อยพบปัญหาเรื่องโรคและแมลง แต่ถ้าปลูกจำนวนมากก็ควรระวังเรื่องนี้ด้วย

 

ส่วนที่นำมาใช้เป็นยา  เหง้าสด เหง้าแห้งบดเป็นผง มีรสฝาด กลิ่นหอมเฉพาะตัว ใช้รักษาโรคกระเพาะ แก้ท้องอืด ท้องร่วง รักษาแผลแมลงกัดต่อย แผลพุพอง กลากเกลื้อน

 

การใช้ขมิ้นรักษาโรคกระเพาะอาหาร

1. ใช้ผงขมิ้นซึ่งบรรจุในแคปซูล กินครั้งละ 3 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง

2. ใช้ผงขมิ้นชันผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอน กินหลังอาหาร และก่อนนอน ครั้งละ 3 – 5 เม็ด วันละ 3 เวลา

ข้อควรระวัง บางคนกินขมิ้นแล้วท้องเสีย ให้หยุดยาทันที

 

การใช้ขมิ้นรักษาอาการท้องเสีย

1. เหง้าขมิ้นสดหั่นเป็นชิ้นเล็ก 1 กำมือ ( 10 – 20 ) กรัม หรือใช้ขมิ้น แห้ง 5 – 10 กรัม หั่นเป็นชิ้นๆ ต้มกับน้ำพอท่วมแล้วให้น้ำงวดลงเหลือ 1 ใน 3 เอามาดื่มวันละครั้ง

2. ใช้ผงขมิ้นชันผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกอนกินหลังอาหารและก่อนนอน ครั้งละ 3 –5 เม็ด วันละ 3 เวลา

 

การใช้ขมิ้นรักษาแผลแมลงกัดต่อย

1. ใช้ผงขมิ้นชัน 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันหมู 2 – 3 ช้อนโต๊ะ เคี่ยวด้วยไฟอ่อนๆ คนจนน้ำมันกลายเป็นสีเหลือง ใช้น้ำมันที่ได้ใส่แผล

2. นำเหง้าขมิ้นชันสดๆ มาล้างให้สะอาด แล้วตำจนละเอียดคั้นเอาน้ำใส่แผล

3. เอาขมิ้นชันผสมกับน้ำปูนใสเล็กน้อย และผสมสารส้มหรือดินประสิว พอกบริเวณที่แผล และใช้แก้เคล็ดขัดยอก

 

การใช้ขมิ้นรักษาแผลพุพอง

ใช้ขมิ้นแห้งบดเป็นผงโรยแผล เช้า – เย็น หรือเอาขมิ้นสดมาตำให้แหลก คั้นเอาน้ำมาทาแผลพุพอง เช้า – เย็น

 

การใช้ขมิ้นรักษากลากเกลื้อน

ผสมผงขมิ้นกับน้ำ หรือเอาเหง้าสดๆ มาตำให้แหลก แล้วทาบริเวณที่เป็นกลากเกลื้น 2 ครั้งต่อวัน ติดต่อกันจนหาย

 

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

สารเคมี  รากและเหง้า มีสารสำคัญเป็นน้ำมันหอมระเหย ร้อยละ 2 – 3 เป็นน้ำมันสีเหลืองมีหลายชนิดคือ tumerone , zingerene , bisaboline , zingiberene , (+)sabinene , alpha-phellandrene curcumone , และมี curcumin อยู่ร้อยละ 1.8 – 5.4

 

1. ฤทธิ์ขับลมของขมิ้นเป็นผลมาจากน้ำมันหอมระเหย และน้ำมันหอมระเหยจากหัวขมิ้นมีฤทธิ์ต้านฮีสตามีน โดยมีฤทธิ์ต้านฮีสตามีนในระยะแรกของการอักเสบ โดยผ่านกระบวนการยับยั้ง trypsin หรือ hyaluronidase ได้มีการทดลองในผู้ป่วยโรคท้องอืดท้องเฟ้อ จำนวน 160 คน โดยกินแคปซูล วันละ 4 ครั้ง พบว่าได้ผลดีกว่ายาขับลมและผู้ป่วยพอใจ

 

2. ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ขมิ้นสามารถต้านการเกิดแผลในกระเพาะ โดยกระตุ้นการหลั่งเยื่อเมือก (mucin) มาเคลือบเยื่อบุกระเพาะ และยับยั้งการหลั่งน้ำย่อยต่างๆ สารสำคัญในการออกฤทธิ์ คือ curcumin ในขนาด 50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม สามารถกระตุ้นการหลั่ง mucin ออกมาเคลือบกระเพาะ แต่ถ้าใช้ในขนาดสูงอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะได้ การทดลองในผู้ป่วย โรคกระเพาะอาหารเป็นแผล กินครั้งละ 3 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง พบว่าได้ผลดี

 

3. สารสำคัญในการในการออกฤทธิ์ลดการอักเสบ คือ สาร curcmin และอนุพันธุ์ ซึ่งลดการอักเสบได้ดี เมื่อเปรียบเทียบกับ ยา phenylbutazone พบว่ามีฤทธิ์พอๆ กันในกรณีการอักเสบเฉียบพลัน ส่วนกรณีการอักเสบเรื้อรังมีฤทธิ์เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น แต่ฤทธิ์ทำให้เกิดแผลน้อยกว่ายา phenylbutazone สำหรับ Curcumin จะมีฤทธิ์ลดการอักเสบ เป็นสัดส่วนกับขนาดที่ใช้จนถึงขนาด 30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เมื่อให้สูงกว่านี้ฤทธิ์จะลดลงได้ มีผู้ทดลองรักษาแผลหลังผ่าตัด 40 ราย พบว่าให้ผลลดการอักเสบได้เหมือนยา phenylbutazone

 

4. ฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สารสกัดขมิ้นและน้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด ทั้งแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการแน่นจุกเสียดหรือท้องเสีย ขมิ้นสามารถยับยั้งการเกิดกรดเนื่องจาก Lactobacillus acidophilus และ L. plantarum และยังออกฤทธิ์ยับยั้งการเกิดแก๊สเนื่องจากเชื้อ Escherichia coli นอกจากนี้ขมิ้นยังยั้งแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง สารสำคัญในการออกฤทธิ์ คือ curcumin , p-tolylmethylcarbinol และน้ำมันหอมระเหย

 

5. ขมิ้นมีฤทธิ์ขับน้ำดี สารสำคัญในการออกฤทธิ์นี้ คือ curcumin และ p-tolyl-methylcarbinol ซึ่งสามารถขับน้ำดี และกระตุ้นการสร้างน้ำดีโดยไม่มีผลต่อความดันโลหิตและการหายใจ นอกจากนี้ cineole ที่พบในน้ำมันหอมระเหย ยังมีฤทธิ์กระตุ้นการขับน้ำดีด้วย

 

6. ฤทธิ์ลดการบีบตัวของสำไส้ ในบางรายโดยเฉพาะผู้เป็นโรคกระเพาะ มักจะมีอาการปวดเกร็งร่วมด้วย ขมิ้นมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบโดยออกฤทธิ์ต้าน acetylcholine , barium choride และ serotonin และยังมีผู้พบว่าสามารถลดการหดตัวกล้ามเนื้อเรียบมดลูก จึงช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้

 

7. ฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา มีผู้พบฤทธิ์ของผงขมิ้น น้ำมันหอมระเหย และสารสกัดขมิ้นด้วยแอลกอฮอล์ chloroform มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราที่เป็นสาเหตุโรคผิวหนังในคน โดยเฉพาะเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลากเกลื้อนคือ เกลื้อน Microsporum , กลาก Trichophyton และกลาก Epidermophyton

 

8. การทดสอบความเป็นพิษ

การทดสอบความเป็นพิษในหนูขาว พบว่าทั้งขมิ้นและ curcumin ในขนาดที่สูงกว่าที่ใช้ในคน 1.25 – 125 เท่า ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านการเจริญเติบโต และระดับสารเคมีในเลือด

การทดสอบพิษเฉียบพันในหนูเมื่อให้ในขนาดต่างๆ ไม่พบความผิดปกติต่อหนู