ตำลึง

| 0 Comments

ชื่อภาษาอังกฤษ   ivy gourd

ชื่อวิทยาศาสตร์   Coccinia grandis (L.) J.Voigt

ชื่ออื่น                   แคเด๊าะ , ผักแคบ , บาจ , สี่บาท

 

ลักษณะพืช

ตำลึงเป็นไม้เถาเลื้อยขึ้นตามหลักเสา ตามรั้วบ้านหรือพันต้นไม้อื่นอายุยืนยาวหลายปี มีมือเกาะยึดออกตรงข้ามใบ ลำต้นเล็กยาว เมื่ออายุมากลำต้นหรือเถาจะใหญ่และแข็งแรงมากขึ้น ใบเดี่ยวสีเขียวรูปสามเหลี่ยม กว้าง 5 เซนติเมตร ยาว 6-7 เซนติเมตร ออกสลับข้างกัน ตำลึงตัวผู้ใบหยักเว้าลึก 3-5 หยัก ต่างจากใบของตำลึงตัวเมียที่เป็นรูปสามเหลี่ยมอยู่แยกต้นออกจากกัน

ตำลึง ดอกสีขาวปลายกลีบห้าแฉก ข้างในมีเกสรสีเหลืองอ่อน มองคล้ายรูประฆัง ตำลึงตัวเมียมีผลเป็นรูปไข่คล้ายผลแตงกวาแต่เล็กกว่ามาก กว้าง 1-2 เซนติเมตร ยาว 3-4 เซนติเมตร เมื่อผลอ่อนจะมีสีเขียวมีลายขาว ผนสุกเต็มที่สีแดง ภายในมีเมล็ดมากมายส่วนตำลึงตัวผู้มีแต่ดอกแต่ไม่มีผลเลย

 

การปลูก

ตำลึงเป็นพืชเมืองร้อน แถบเอเชีย แอฟริกาพบได้ตามรั้วบ้าน รั้ววสวน เลื้อยตามไม้ยืนต้นทั่วๆไป ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือใช้เถาแก่ 1 ศอก มาปลูกลงในดินร่วมซุย รดน้ำให้ชุ่ม ประมาณ 7 วันจะมียอดอ่อนแตกให้เห็น ในฤดูฝนตำลึงแตกยอดมากและอวบอ้วนน่ากิน ถ้าเคยปลูกแล้วต้นตายไป เมื่อถึงฤดูฝนใหม่ ตำลึงมักจะงอกจากเมล็ดที่ร่วงหล่นออกมาจากพื้นดิน ไม่ต้องปลูกใหม่เลย

 

ส่วนที่นำมาใช้เป็นยา  ใบสด ยอดอ่อน ราก เถา ผล มีรสเย็น ใช้แก้คัน แมลงสัตว์กัดต่อย ลดน้ำตาลในเลือด

 

สรรพคุณ

ตำลึงอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์สูง เช่น สารเบต้าแคโรทีน ที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง และหัวใจขาดเลือด มีแคลเซียมช่วยบำรุงกระดูก และฟัน และยังมีฟอสฟอรัส เหล็ก ไนอาซิน วิตามินซีและอื่น ๆ นอกจากนี้ จากการค้นคว้าของสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ตำลึงมีเส้นใยอาหารที่สามารถช่วยลดอัตราเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง ในกระเพาะอาหาร อีกด้วย สำหรับตำรายาแผนโบราณ ตำลึงถือเป็นยาเย็น ใบช่วยขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้อาการแพ้ อักเสบ แมลงมีพิษกัดต่อย แก้แสบคัน เจ็บตา ตาแดงและตาแฉะ แก้โรคผิวหนัง และลดน้ำตาลในเลือด

 

ราก : แก้ดวงตาเป็นฝ้า ลดความอ้วน แก้ไข้ทุกชนิด ดับพิษทั้งปวง ฝนทาภายนอก แก้ฝีต่างๆ แก้ปวดบวม แก้พิษร้อนภายใน แก้พิษแมลงป่องหรือตะขาบต่อย

 

ต้น : กำจัดกลิ่นตัว น้ำจากต้น รักษาเบาหวาน

 

เปลือกราก : เป็นยาถ่าย ยาระบาย

 

เถา : แก้ฝี ทำให้ฝีสุก แก้ปวดตา แก้โรคตา แก้ตาฝ้า ตาแฉะ แก้พิษอักเสบจากลูกตา ดับพิษร้อน ถอนพิษ เป็นยาโรคผิวหนัง แก้เบาหวาน

 

ใบ : เป็นยาพอกรักษาผิวหนัง รักษามะเร็งเพลิง แก้ท้องอืด แก้ท้องเฟ้อ แก้จุกเสียด แก้หืด รักษาผื่นคันที่เกิดจากพิษของหมามุ้ย ตำแย บุ้งร่าน ใช้เป็นยาเขียว แก้ไข้ ดับพิษร้อน ถอนพิษทั้งปวง แก้ปวดแสบปวดร้อน ถอนพิษคูน แก้คัน แก้แมลงกัดต่อย แก้ไข้หวัด แก้พิษกาฬ แก้เริม แก้งูสวัด

 

ผล : แก้ฝีแดง

ทั้งห้า รักษาโรคผิวหนัง รักษาอาการอักเสบของหลอดลม รักษาเบาหวาน

 

การใช้ตำลึงเป็นยาแก้คัน แมลงกัดต่อย

แก้พิษสัตว์กัดต่อย หรือเมื่อไปถูกพืชมีพิษที่ทำให้คัน เช่น ตำแย หมามุ่ย ปรง โดยเอาใบตำลึงสด 1 กำมือ ล้างให้สะอาด ตำละเอียดแล้วผสมน้ำเล็กน้อย คั้นเอาน้ำตำลึงข้นๆ มาทาบริเวณที่คัน ทาซ้ำบ่อยๆ หรือจะตำแล้วเอามาพอกติดไว้เลยก็ได้เหมือนกัน เมื่อพอกจนแห้งแล้วก็เอาใบตำลึงอันใหม่มาตำพอกซ้ำจนกว่าจะหาย สำหรับพืชที่มีขนติดกับผิวหนังเรา เช่นหมามุ่ย ขนของมันทำให้เราคัน ควรที่จะเอาขนออะด้วยการเอาเทียนมาคลึงผิวหนังหรือเอาข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนกลมมากลิ้งบนผิวหนังให้ขนหมามุ่ยติดออกไปกับข้าวเหนียว จากนั้นค่อยใช้ตำลึงมาตำพอกลดคัน

 

การใช้ตำลึงลดน้ำตาลในเลือด

การนำมากินเพื่่อลดน้ำตาลในเลือดนั้น ยังไม่มีข้อแนะนำที่แน่ชัด คนที่เป็นเบาหวานจะลองกินเช้า-เย็นดูก่อนก็ได้ประมาณ 7 วัน แล้วสังเกตุอาก่ารตนเองว่าดีขึ้นหรือไม่ คนที่เป็นเบาหวานจะรู้ตัวดีว่าอาการดีขึ้นหรือแย่ลง ซึ่งทราบชัดเจนขึ้นเมื่อไปเจาะเลือดดูระดับน้ำตาลในเลือดตามนัด

 

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

ในผลตำลึงมีสารสำคัญคือ cucurbitacin B และในใบตำลึงมีกด อมิโนหลายชนิด และมีสาร B-sitosterol ออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้รวดเร็ว

 

1.ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด การทดลองในคนไข้เบาหวาน ให้กินตำลึงวันละ 2 ครั้ง พบว่าทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ด้วยการดื่มน้ำคั้นจากใบและต้น ส่วนการทดลองในสัตว์นั้นมีรายงานว่า ทดลองใช้น้ำคั้นจากใบและต้นตำลึงและสารสกัดจากต้นตำลึงด้วยแอลกอฮอล์ 95% ให้กระต่ายกิน มีผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดกระต่ายลดลง ด้วยฤทธิ์ของสาร alloxan จากตำลึง

 

2. มีข้อมูลว่า ตำลึงช่วยย่อยอาหารจำพวกแป้ง ในตำลึงมี เอนไซม์อะมายเลส ซึ่งช่วยย่อยแป้ง ข้าว ขนม ลดอาการท้องอืด แต่ควรกินในรูปน้ำคั้นสด ใบสดหรือใบตำลึงผ่านการปรุงด้วยความร้อนที่ไม่สูงนักเพราะถ้าผ่านความร้อนมาก เอนไซม์จะถูกทำลาย ถ้าทราบว่าท้องอืดเพราะกินอาหารจำพวกแป้งมาก ก็คั้นน้ำตำลึงมาดื่ม อาจได้ผล แต่ถ้ากินอาหารจำพวกไขมันสูงแล้วทำให้ท้องอืด จะใช้น้ำตำลึงช่วยย่อยแก้ท้องอืดไม่ได้ เพราะเอนไซม์ที่ย่อยไขมันไม่มีอยู่ในใบตำลึง 

Leave a Reply