กะเพรา

| 0 Comments

ชื่ออังกฤษ           Holy basil , Sacred basil

ชื่อวิทยาศาสตร์  Ocimum tenuiflorum Linn., Ocimum sanctum Linn.

ชื่ออืนๆ                กอมก้อดง กอมก้อ กะเพราขาว กะเพราแดง กะเพราขน ห่อกวอชู ห่อตูปลู อิ่นคิมหลำ มะเรียะเปร็อว

 

ลักษณะพืช

กะเพราเป็นพืชสวนครัว ไม้ล้มลุกทรงพุ่มขนาดเล็ก ต้นสูง 30-60 เซนติเมตร มีอยู่ 2 พันธุ์ คือกะเพราขาวกะเพราแดง กะเพราขาวจะมีใบและส่วนต่างๆ เป็นสีเขียวอ่อน กระเพราแดงจะมีส่วนต่างๆ และใบเป็นสีเขียวอมม่วงแดง มีกลิ่นแรงกว่ากะเพราขาว

กะเพรา

ลำต้นมีความแข็ง พ้นจากดินเล็กน้อยก็จะแตกกิ่งก้านสาขาออกไป ใบสีเขียวขนาดเล็กมากมายเต็มต้น เป็นใบเลี้ยงเดี่ยวรูปกลมค่อนข้างรี กว้าง 1 เซนติเมตร ยาว 3 เซนติเมตร ใบอ่อนนุ่ม ขอบหยักออกตรงข้ามกันมีขนเล็กๆ ปกคลุมไปหมดที่ใบและก้าน ใบมีกลิ่นหอม ยอดและใบอ่อนมีกลิ่นหอมกว่าส่วนอื่น มักใช้ส่วนยอดหรือใบอ่อนมาเป็นเครื่องเทศปรุงอาหาร

 

ออกดอกเป็นช่อสูงขึ้นไปเป็นชั้นๆ คล้ายฉัตร ช่อยาว 8 –14 เซนติเมตรมีดอกติดอยู่โดยรอบช่อ ก้านดอกมีขน กลีบเลี้ยงมีข้างบนและข้างล่าง กะเพราขาวมีดอกสีขาว กระเพราแดงมีดอกสีแดง ผลมีขนาดเล็ก มี 4 ผลอยู่ด้วยกัน ผลแก่แห้งเป็นสีน้ำตาล ภายในมีเมล็ดเล็กสีดำอยู่มากมาย

 

การปลูก

กะเพราพบอยู่ทั่วไปในเมืองร้อนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราคุ้นเคยกับกะเพรามานาน ปลูกได้ง่ายมากช่วงต้นฤดูฝน ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือโปรยเมล็ดลงในดินร่วนซุยที่สวนครัว รดน้ำให้ชุ่ม ต้นงอกงามดีในฤดูฝน หรือใช้กิ่งปักชำก็ได้แต่ไม่ค่อยนิยม กะเพราปลูกขึ้นง่ายไม่ค่อยมีโรคหรือแมลงรบกวนซึ่งต่างไปจากแมงลักที่แมลงชอบมากัดกิน การตัดแต่งกิ่งบ่อยด้วยมีดคม และการหมั่นเด็ดยอดไปปรุงอาหารหรือทำยาจะทำให้กะเพราแตกยอดมากขึ้น กะเพรามีอายุยืนยาวหลายปี ทนแดดทนแล้งได้ดีพอถึงฤดูฝนมาใหม่ เมล็ดที่เคยร่วงหล่นก็จะเกิดเป็นต้นอ่อนมากมาย จนต้องถอนทิ้งเพราะมีต้นอ่อนมากเกินไป สำหรับครอบครัวเล็ก มีต้นกะเพราไว้ 3-4 ต้น ก็พอใช้ ทั้งปรุงอาหาร เป็นผัก และใช้เป็นยารักษา

 

ส่วนที่นำมาใช้เป็นยา  ใบและยอดทั้งสดและแห้ง มีรสเผ็ดร้อนฉุน ใช้มก้จุกเสียด แน่นท้อง โรคกระเพาะ ลดน้ำตาลในเลือด

 

การใช้กะเพรารักษาอาการแน่นจุกเสียด

1. สำหรับผู้ใหญ่และเด็กโต ใช้ใบสด 1 กำมือหรือใบสด 25 กรัม ต้มกับน้ำให้เดือด แล้วเอาน้ำนั้นดื่มต่ามน้ำ หากใช้ใบกะเพราแห้งก็ควรมีน้ำหนัก 4 กรัม เอามาต้มกับน้ำแล้วดื่มครั้งละ 1 แก้วจนมีอาการดีขึ้น

2. สำหรับเด็กอ่อน ใช้ใบสด 3 ใบ ผสมเกลือบดให้ละเอียดแล้วผสมกับน้ำผึ้งหยอดใส่ปากเด็กอ่อน 2-3 หยด นาน 2-3 วัน จะช่วยขับลมออกมาได้หมด

 

การใช้กะเพรารักษาโรคกระเพาะ

กินใบกะเพราสดทุกวันแก้โรคกระเพาะได้ (ไม่ได้บอกปริมาณ) แต่ทดลองในสัตว์ทดลองได้ผนดี

 

การใช้กะเพราลดน้ำตาลในเลือด

กินใบกะเพราสดทุกวันลดน้ำตาลในเลือดได้ ( ไม่ได้บอกปริมาณ ) หรือใช้ในรูปของการต้มก็ได้ ชงเป็นชาก็ได้ ควรกินคู่ไปกับยาแผนปัจจุบันแล้วสังเกตอาการ กับดูระดับน้ำตาลในเลือดแต่ละครั้งที่เจาะเลือด จากการทดลองป้อนสารสกัดใบกะเพราด้วยแอลกอฮอล์ 50% พบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองได้มากกว่าร้อยละ 30

 

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

สารเคมี  ในใบพบน้ำมันหอมระเหยประมาณ 0.35-0.6% เช่น apigenin , ocimol , linalool , essential oil , chavibetal ช่วยขับลมและทำให้เจริญอาหาร

 

1. ฤทธิ์ขับลม กะเพรามีน้ำมันหอมระเหยจึงมีฤทธิ์ขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ

 

2. ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะ เมื่อป้อนสารสกัดกะเพราด้วยแอลกอฮอล์ 70% ทางท่อเข้าที่กระเพาะหนุขาวในขนาด 100 มิลลิกรัม/ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม มีผลรักษาแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจากยา aspirin และเกิดจากวิธี Shay – induced ulcers รวมทั้งวิธีที่ใช้ความเย็นให้เกิดแผลในกระเพาะหนูขาว

 

3. ฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ สารสกัดใบสดหรือใบแห้ง ด้วยน้ำหรือสารสกัด 50% alcohol มีผลคลายกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้หนูตะเภาและกระต่าย ที่ถูกกระตุ้นด้วยสาร histamine , acetylcholine , carbachol

 

4. ฤทธิ์ขับน้ำดี กะเพรามี eugenol ซึ่งมีฤทธิ์ขับน้ำดี ช่วยให้การย่อยอาหารดีขึ้น

 

5. ฤทธิ์ลดการอักเสบ กะเพรามีสาร eugenol มีฤทธิ์ลดการอักเสบโดยยับยั้งการสังเคราะห์ prostaglandin

 

6. สารสำคัญในการออกฤทธิ์ต้านฮีสตามีน กะเพรามี ursolic acid ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่ง histamine จาก mast cell

 

7. ฤทธิ์ป้องกันตับอับเสบ เมื่อฉีดสารสกัดทั้งต้นด้วยแอลกอฮอล์ 70% เข้าช่องท้องหนูถีบจักร ในขนาด 200 มิลลิกรัม / น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมพบว่าป้องกันตับอักเสบ เนื่องจาก carbontetrachloride ได้

 

8. การทดสอบความเป็นพิษ เมื่อฉีดสารสกัดจากใบด้วยแอลกอฮอล์ 50% เข้าช่องท้องหนูถีบจักรขนาด 1 กรัม / น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่พบพิษเช่นเดียวกัน

Leave a Reply